
รักษ์สุขภาพ - ตอนที่ 22 โภชนศาสตร์สมัยใหม่ (13)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 18 มิถุนายน 2568
- Tweet
6. น้ำ เป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุด (Most important) เพราะเป็นส่วนประกอบ (Component) ของทุกเซลล์ในร่างกาย โดยเป็นตัวนำพาหรือขนส่ง (Transport) สารอาหาร (Nutrient) ที่ละลายในน้ำไปสู่ปลายทาง (Destination) ช่วยในการทำงานของอวัยวะ (Organ) ต่างๆ
ตัวอย่างเช่น ย่อยอาหาร (Digest), ขับของเสีย (Expel waste), ควบคุมอุณหภูมิ (Temperature), ป้องกัน (Protect) ร่างกายส่วนสำคัญมิให้ถูกกระแทก (Strike)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นที่ให้แร่ธาตุแตกตัว กล่าวคือ เป็นประจุ (Charge) สารละลายที่ยอมให้ไฟฟาไหลผ่านได้ (Electrolyte) เพื่อนำไปใช้งานและรักษาความสมดุล (Balance) ของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte = แร่ธาตุที่มีประจุไฟฟ้า ละลายในเลือด, เหงื่อ, และปัสสาวะ) ในร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่นานาเซลล์ทำงาน (Function) ได้เป็นปรกติ
ทำไมเราต้องดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
ร่างกายของเราจะสูญเสียน้ำไป เพื่อการทำงานดังกล่าวข้างต้น วันละประมาณ ครึ่งลิตร จึงต้องได้รับการทดแทน จากภายนอก หากไม่ได้รับการทดแทนอย่างเพียงพอ ร่างกายจะตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ
- หากร่างกายขาดน้ำมาก จะทำให้เกิดภาวะช็อก (Shock) หรือเกิดไตวาย (Kidney failure) เฉียบพลัน (Acute)
- หากร่างกายขาดน้ำปานกลาง (Moderate) จะทำให้เลือดข้น (Polycythemia), เลือดแข็งตัวง่าย (Coagulation), และเกิดอัมพาต (Paralysis) เฉียบพลัน, และกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) เฉียบพลันได้ง่ายขึ้น
- หากร่างกายขาดน้ำน้อย จะทำให้กระหายน้ำ (Thirsty), คอแห้ง (Dry), น้ำลายเหนียว (Sticky saliva), และขาดความกระปรี้กระเปร่า (Energetic)
เราควรดื่มน้ำวันละเท่าไร
ยังไม่มีประจักษ์หลักฐาน (Evidence) ที่เชื่อถือได้มากพอ ที่จะสรุปได้ว่า ปริมาณน้ำดื่มที่ควรได้รับสำหรับทุกเพศ (Gender), ทุกวัย (Age) และทุกสภาพแวดล้อม (Environment) ควรเป็นเท่าใด
แต่มีงานวิจัย (Research) ชาวอเมริกัน ที่เมือง Loma Linda ในรัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่า ประชากรผู้ใหญ่ (Adult population) ควรดื่มน้ำวันละ 5 แก้วขึ้นไป จึงจะลดอุบัติการณ์ (Incident) การเกิดอัมพาตเฉียบพลัน และกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
คนทั่วไป ควรดื่มน้ำทุกครั้งที่รู้สึกกระหายน้ำ, ปากแห้ง, น้ำลายเหนียว, และหลังการเสียเหงื่อมาก (Perspiration) หรือหลังท้องเสีย (Diarrhea) หรือหลังอาเจียน (Vomiting)
แหล่งข้อมูล –
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. และ พญ. ดร. พิจิกา วัชราภิชาต (2566). Healthy Life Bible คัมภีร์สุขภาพดี: สุขภาพดีได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท ฟรีมาย์ พับลิชชิ่ง จำกัด.